การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หมายถึง การเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นด้วยวิธีการและอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธีและสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือผู้ที่พบเห็นสามารถช่วยเหลือได้ในทันทีซึ่งการปฐมพยาบาลนั้นมีหลายแบบตามลักษณะการบาดเจ็บวันนี้เราจะมาบอกว่าสิ่งที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขั้นพื้นฐานมีอะไรบ้าง
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid)
เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บทันที ณ บริเวณเกิดเหตุ อาจเป็นการใช้ทักษะความรู้เฉพาะทางหรือการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการช่วยเหลืออาจใช้เพียงอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยจนกว่าจะได้รับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
จุดประสงค์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ การเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันนายจ้างควรจัดให้ลูกจ้างผ่านการอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องอาจช่วยป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นจากอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุเล็กน้อยๆ ก็ตาม โดยช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ และช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ด้วยวิธีการเช่น การทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเย็น หรือใช้ผ้าพันแผลกดห้ามเลือดสำหรับบาดแผลจากของมีคม ตลอดจนการรับมือในกรณีอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจส่งผลถึงชีวิตด้วยเช่นกัน
หากสนใจ หลักสูตรอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากศูนย์อบรมตามมาตรฐานสากล ที่มีเนื้อหาตามมาตรฐาน อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: อบรมปฐมพยาบาล.com
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับอุบัติเหตุ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องดูตามอาการซึ่งแตกต่างกัน โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต้องมีสติ คิดหาวิธีรับมือ และตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด สิ่งที่ผู้ช่วยเหลือควรคำนึงถึง คือ เรื่องขีดความสามารถ ข้อจำกัด หรือความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ โดยให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานกู้ชีพฉุกเฉินเสมอ
แขนหรือขาหัก
แขนหักหรือขาหักมีอาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น พบกระดูกโผล่ออกผิวหนัง เลือดทะลักออกจากแผลและไหลไม่หยุด แม้จะกดแผลห้ามเลือดอยู่หลายนาที หรืออาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ลำคอ และหลัง ผู้ช่วยเหลือสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
- ในกรณีที่ต้องห้ามเลือด กดแผลให้แน่นด้วยผ้าสะอาดจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- การประคบน้ำแข็ง หรือยกแขนขึ้นเหนือหัวใจ อาจช่วยให้แผลบวมน้อยลงได้
- หากเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยสวมใส่ปกปิดแขนบริเวณที่หัก ให้ถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกแต่ห้ามขยับแขนเด็ดขาด
- สำหรับอาการแขนหักที่ไม่รุนแรงมากนัก ให้ดามแขนโดยพันม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือไม้บรรทัด ด้วยเทปที่ใช้สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือดามแขนของผู้ป่วยโดยใช้ผ้าพันแผลพันไว้กับไม้กระดาน
- หากพบว่าผู้ป่วยขาหัก ให้ผู้ช่วยเหลือดามที่ขาโดยใช้ผ้าพันแผลพันรอบหัวเข่า ข้อเท้า ในส่วนบน และล่างของบริเวณที่หักกับไม้กระดานหรือวัสดุดาม หรือดามไว้กับขาอีกข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการดามไม่ได้ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่บริเวณแขนหรือขา
- หากผู้ป่วยมีอวัยวะหักเป็นแผลเปิดที่มีชิ้นส่วนของกระดูกโผล่ออกมา พยายามอย่าแตะต้อง และให้ใช้ผ้าพันแผลปราศจากเชื้อโรคพันไว้ และรอความช่วยเหลือทางการแพทย์
- ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มใดๆ เนื่องจากอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด
- รีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยทันที ซึ่งแพทย์อาจเอกซเรย์ เข้าเฝือกแขน หรือผ่าตัดในกรณีที่กระดูกทะลุผิวหนัง เพื่อฟื้นฟูกระดูกส่วนที่ที่แตกหัก
น้ำร้อนลวก
- ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
- หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใสหรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
- หากมีแผลบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใดๆ ก่อนถึงมือแพทย์
หัวแตก
ใบหน้าและหนังศีรษะเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดใกล้ผิวชั้นนอกมาก ดังนั้น รอยแผลหัวแตกมักจะมีเลือดไหลออกมาก ในกรณีที่บาดแผลลึกถึงกระโหลกศีรษะ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ในกรณีที่บาดแผลไม่สาหัส อาจปฐมพยาบาลห้ามเลือดได้เองที่บ้าน โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- กดแผลห้ามเลือด หากเป็นไปได้ให้ล้างมือ หรือสวมถุงมือกันเชื้อโรคทุกครั้ง
- ให้ผู้ป่วยนอนลง หากมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่กับแผล ให้เอาออกให้หมด
- ใช้ผ้าพันแผล หรือผ้าสะอาดกดแผลไว้ให้แน่น 15 นาที อย่าหยุดกดจนกว่าจะครบเวลา หากเลือดซึมผ่านผ้า ให้ใช้ผ้าสะอาดผืนใหม่แปะแล้วกดต่อ
- ในกรณีที่บาดแผลค่อนข้างสาหัสและเลือดยังไม่ยอมหยุดไหล ให้กดแผลต่อไปเรื่อยๆ ระหว่างรอความช่วยเหลือ พยายามให้แผลสะอาดและหลีกเลี่ยงไม่ให้บาดเจ็บซ้ำอีก
- ในกรณีที่บาดแผลไม่ร้ายแรง หลังจากกดแผลไว้แล้ว 15 นาที เลือดมักจะหยุดไหลได้เอง หรืออาจไหลซึมอยู่บ้างประมาณ 45 นาที
- หากผู้ช่วยเหลือสังเกตพบว่ามีอาการแตกร้าวของกระโหลก ให้ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค โดยห้ามออกแรงกดห้ามเลือดโดยตรง หรือหลีกเลี่ยงแตะต้องเศษเนื้อตายที่บริเวณบาดแผล
- บาดแผลที่มีอาการบวม บรรเทาลงได้ด้วยการประคบน้ำแข็ง
- เฝ้าสังเกตอาการหมดสติ หรือช็อก
เป็นลม
อาการเป็นลมเกิดขึ้นจากภาวะเลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติชั่วคราว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นลมอาจทำได้ดังนี้
- ในกรณีที่ตัวเรามีอาการเป็นลมซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการที่เกิดฉับพลัน เช่น รู้สึกหน้ามืด ตาพร่าลาย หรือเวียนศีรษะ ให้รีบล้มตัวนอนหรือนั่งพัก โดยขณะมีอาการให้นั่งในท่าโน้มศีรษะลงมาอยู่ระหว่างเข่าพร้อมกับหายใจเข้าลึกเต็มปอด หากรู้สึกดีขึ้นจึงค่อยๆ ลุกขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรรีบลุกขึ้นเร็วจนเกินไปเนื่องจากอาจเป็นลมซ้ำได้
- ในกรณีที่พบผู้ป่วยเป็นลม ควรช่วยจัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ และยกขาขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ (ประมาณ 30 เซนติเมตร) เพื่อให้โลหิตไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปลดเข็มขัด ปกคอเสื้อ หรือเสื้อผ้าส่วนอื่นๆ ที่รัดแน่น เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นลมซ้ำ หากผู้ป่วยฟื้นขึ้น อย่าเพิ่งให้ลุกขึ้นเร็วจนเกินไป และให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานแพทย์หรือกู้ชีพ
- สังเกตดูว่าผู้ป่วยอาเจียน และหายใจได้สะดวกดีหรือไม่
- สังเกตการไหลเวียนโลหิต ซึ่งดูได้จากการหายใจ อาการไอ หรือการเคลื่อนไหว หากพบความผิดปกติว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือ แล้วทำ CPR (การปั๊มหัวใจ) ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะมีสัญญาณชีพจรและกลับมาหายใจได้อีกครั้ง หรือเมื่อความช่วยเหลือมาถึง
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นลมล้มลงจนได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลฟกช้ำ หรือแผลที่มีเลือดออก ให้ดูแลบาดแผลและกดแผลห้ามเลือด
- ให้ผู้ช่วยเหลือพาผู้ป่วยที่เป็นลมไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจอแจ และให้ดมแอมโมเนีย หรือยาดม เพื่อบรรเทาอาการ โดยผู้ช่วยเหลืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าควบคู่ไปด้วยได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยังไม่มีอาการดีขึ้น ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์
อาการชัก
อาการชักมีหลายประเภทและมักจะหยุดลงในเวลาไม่กี่นาที อาจมีสัญญาณบอกล่วงหน้า เช่น รู้สึกหวาดกลัว หรือวิตกกังวลอย่างฉับพลัน รู้สึกปั่นป่วนในท้อง มึนงง ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ ร่างกายชาไร้ความรู้สึก หรือการควบคุมแขนหรือขาเกิดความผิดปกติ ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ช่วยเหลือควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
- ผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติไว้ให้ดี และอยู่กับผู้ป่วยจนกว่าจะหายชัก หรือกลับมารู้สึกตัวปกติดีอีกครั้ง
- ให้ผู้ช่วยเหลือพยายามกันไม่ให้มีคนมุงดู โดยอาจขอความร่วมมือจากผู้อื่นให้เว้นระยะห่างให้ผู้ป่วยได้มีพื้นที่สงบและรู้สึกปลอดภัย ในกรณีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่อันตราย เช่น บนท้องถนน หรือบันได ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
- จับผู้ป่วยนอนตะแคงหนุนหมอน เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย หรือสำลักอาเจียน
- ระมัดระวังไม่ให้ศีรษะของผู้ป่วยกระทบกระเทือน โดยผู้ช่วยเหลืออาจหาเสื้อผ้ามารองไว้ใต้ศีรษะ
- ปลดเครื่องแต่งกายที่รัดแน่น เช่น กระดุมปกคอเสื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น
- พยายามให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก โดยการจับกราม และดันศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย
- ห้ามเขย่าตัว ตะโกนใส่ หรือนำสิ่งของแปลกปลอมเข้าปากผู้ป่วยที่กำลังเกิดอาการโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด หรือน้ำเปล่า เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักได้
- ห้ามยึดยื้อหรือดึงรั้งแขนและขาของผู้ป่วยที่มีอาการชัก เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังจะได้รับอันตรายจากการตกที่สูง หรือการตกน้ำ
- ในระหว่างปฐมพยาบาลควรจดจำอาการ และระยะเวลาที่เกิดอาการว่านานเท่าไร เพื่อจะได้แจ้งแก่ผู้ป่วยหรือแพทย์ได้
- หลังจากอาการชักสิ้นสุดลง มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอาจเพลียหลับไป ในกรณีนี้ให้ผู้ช่วยเหลือจัดท่าผู้ป่วยนอนพลิกตะแคง เช็ดน้ำลาย หรือสิ่งแปลกปลอมที่ไปอุดกั้นทำให้หายใจไม่สะดวก เช่น ฟันปลอม หรือเศษอาหาร
- หากผู้ช่วยเหลือสังเกตพบว่าผู้ป่วยชักอยู่นานเกินกว่า 5 นาที มีอาการชักซ้ำๆ ติดกัน หายใจติดขัดผิดปกติ หรือผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงระหว่างชัก ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยด่วน
แผลงูกัด
หากไม่สามารถจดจำลักษณะของงูหรือไม่ทราบชนิดของงูที่กัด ให้ผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วยพึงสงสัยไว้ก่อนได้เลยว่างูที่กัดอาจมีพิษ และรีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากแพทย์โดยทันที ทั้งนี้ อาการที่เกิดจากบาดแผลงูพิษอาจสังเกตได้จากการหายใจลำบาก หรือหมดสติ ในทางตรงกันข้ามถ้าทราบแน่ชัดแล้วว่างูที่กัดเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีพิษ ให้รักษาแผลเหมือนกับการรักษาแผลถูกของมีคมบาด และควรจดจำลักษณะของงูเอาไว้ให้ดี เมื่อผู้เชี่ยวชาญมาจะได้บอกรายละเอียดของงูได้ถูกต้อง ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นบาดแผลงูกัดในระหว่างรอความช่วยเหลือควรปฏิบัติ ดังนี้
- รีบพาผู้ป่วยหนีออกห่างจากงู และให้ผู้ป่วยนอนลง
- ผู้ช่วยเหลือควรพยายามทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ เคลื่อนไหวแขน ขา หรือส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้พิษแพร่กระจาย พยายามจัดตำแหน่งให้บริเวณที่ถูกงูกัดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหัวใจ เช่น หากถูกงูกัดที่มือหรือเท้าให้ห้อยลงต่ำ
- ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลแบบปราศจากเชื้อ
- ถอดเครื่องประดับที่อยู่ใกล้เคียงกับแผลออก หรือถอดรองเท้าหากถูกกัดที่ขา หรือเท้า
- ในระหว่างรอความช่วยเหลือ ห้ามกรีดบริเวณบาดแผล ดูดพิษ ขันชะเนาะ ล้างแผลด้วยน้ำ ประคบน้ำแข็ง ใช้ไฟหรือเล็กร้อนจี้บริเวณที่ถูกงูกัด ให้ใช้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งห้ามรักษาด้วยยาชนิดอื่นโดยเด็ดขาด
- ห้ามผู้ป่วยเดินเท้าในระหว่างการเดินทางไปยังสถานพยาบาล ให้ผู้ป่วยนั่งรถหรือแคร่หาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษงูไปทั่วร่างกาย
จมน้ำ
การจมน้ำมักไม่มีอาการอื่นๆ แสดงให้เห็นนอกเสียจากพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือพบว่านอนอยู่ที่ฝั่งแล้ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยปฏิบัติดังนี้
- หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือเรียกแล้วไม่ตอบสนอง ให้เปิดทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น และทำ CPR ก่อนเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นจึงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงให้ติดต่อกับหน่วยงานฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 โดยทันที ภายหลังให้ทำ CPR ร่วมกับการผายปอดอย่างต่อเนื่อง (หากเคยมีประสบการณ์หรือผ่านการเรียนวิธีผายปอดที่ถูกต้องมาก่อน) จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง
- หากพบว่าผู้ป่วยหมดสติแต่ยังคงหายใจอยู่ จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพัก โดยให้ศีรษะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตัว แต่สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยจมน้ำรู้สึกตัว ให้ผู้ช่วยเหลือรีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- คอยเฝ้าสังเกตอาการ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่
- ผู้ช่วยเหลือไม่ควรพยายามกำจัดน้ำในตัวผู้ป่วยออกด้วยวิธีการอุ้มพาดบ่าแล้วกระทุ้งเอาน้ำออก เพราะน้ำที่ไหลออกจากการกระทุ้งนั้นอาจไม่ใช่น้ำที่ค้างในปอด แต่อาจเป็นน้ำจากกระเพาะอาหาร ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยตามมาได้
อาการสำลัก
การสำลักเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดค้างอยู่ในลำคอหรือกีดขวางหลอดลม สังเกตเห็นได้จากอาการบางอย่าง เช่น เล็บ ริมฝีปาก และผิวหนังของผู้ป่วยคล้ำหรือเปลี่ยนเป็นสีเขียว พูดไม่มีเสียงหายใจลำบาก หายใจเสียงดัง ไม่สามารถไอแรงๆ หรือหมดสติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำโดยทันที เนื่องจากการสำลักจะทำให้สมองขาดออกซิเจน โดยปฏิบัติดังนี้
- ตบหลัง 5 ครั้ง ระหว่างกระดูกสะบักของผู้ป่วยด้วยส้นมือ โดยผู้ช่วยเหลือควรเรียนเทคนิคการตบหลังก่อนการช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นให้ใช้วิธีการกดกระแทกที่ท้องแทน หรือจะทำ 2 วิธีสลับกันก็ได้
- กดกระแทกที่ท้อง (Abdominal Thrusts) 5 ครั้ง ควรทำก่อนการขอความช่วยเหลือ โดยให้ยืนข้างหลัง เอาแขนรัดรอบเอว แล้วโน้มตัวผู้ป่วยไปด้านหน้าเล็กน้อย กำหมัดแล้ววางไว้ตรงสะดือของผู้ป่วย จากนั้นใช้มืออีกข้างจับที่หมัด แล้วกดลงแรงและเร็วที่ท้องของผู้ป่วย ให้เหมือนกับกำลังพยายามยกตัวผู้ป่วยขึ้น วิธีนี้สามารถทำซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา และสามารถใช้ได้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีและผู้ใหญ่
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ผู้ช่วยเหลือวางท้องแขนลงบนหน้าตัก จับผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แล้ววางใบหน้าของผู้ป่วยลงบนท้องแขน จากนั้นค่อยๆ ทุบลงกลางหลังให้แรงมากพอจะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้
- หากยังไม่ได้ผลให้ใช้ 2 นิ้ววางตรงกลางกระดูกหน้าอก และปั๊มหัวใจ 5 รอบแบบเร็วๆ ทำซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา ในกรณีที่ไม่มีสิ่งแปลกปลอมขวางทางเดินหายใจ หากทารกหยุดหายใจ ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือแล้วจึงทำ CPR