พื้นที่อับอากาศ (Confined Space) หมายถึง พื้นที่ที่มีทางเข้าและออกจำกัดโดยเฉพาะ และมีการระบายอากาศไม่เพียงพอในการเปลี่ยนแปลงอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้สภาพอากาศภายในพื้นที่นั้นอาจเป็นอันตราย อยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย
พื้นที่เหล่านี้อาจมีการสะสมของสารเคมีที่เป็นพิษหรือระเหย สารไวไฟ และอาจมีปัญหาในการรับประสิทธิภาพของออกซิเจนสำหรับการหายใจ ตัวอย่างเช่น ถังน้ำมัน ถังหมัก ท่อ ถัง ถ้ำ บ่อ อุโมงค์ เตา ห้องใต้ดิน ภาชนะ หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
อันตรายจากการทำงานในสถานที่อับอากาศที่จะทำให้ลูกจ้างนั้นเกิดการขาดอากาศหายใจ หรือ สูดดมสารพิษ สารเคมีไวไฟ
การพิจารณาว่า พื้นที่ใดจัดเป็นพื้นที่อับอากาศ มีปัจจัยในการพิจารณาดังนี้
- พื้นที่ซึ่งมีขนาดเล็ก แก๊สหรือไอที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ไม่สามารถระบายออกไปได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่จำเป็นต้องทำงานในบริเวณนั้น โดยอาจสูดดมเอาแก๊สพิษเข้าไปในร่างกาย หรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการหายใจ รวมถึง อาจมีแก๊สที่สามารถติดไฟได้ในบริเวณนั้น
- มีโอกาศที่จะทำให้อากาศหมดไปจนต่ำกว่า 19.5%
- ทางเข้า-ออกจำกัด อยู่ไกลจากจุดปฏิบัติงาน มีขนาดเล็ก หรือมีจำนวนจำกัด
อันตรายจากการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานและความเสียหายอย่างอื่น เช่น ทรัพย์สินหรืออาจถึงชีวิต ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- การขาดออกซิเจน
- เกิดไฟไหม้ เนื่องจากการระเบิดของแก๊สที่ติดไฟได้ (Combustible Gas) ได้แก่ แก๊สในตระกูลมีเธนและแก๊สอื่นๆ
- อันตรายจากการสูดดมแก๊สพิษอื่นๆ เช่น
คาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbon monoxide) เป็นแก๊สไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หากมีปริมาณมากจะเป็นพิษ เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ เหตุนี้แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์จึงมีปริมาณมากในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมาจากอีกหลายแหล่งกำเนิด เช่น กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์อื่นๆ หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า เป็นต้น
แก๊สชนิดนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะแทรกซึมเข้าไปกับระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้การทำงานของต่อมและเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อสัมผัสคาร์บอน-มอนนอกไซด์เข้าไป มักจะเกิดผลรุนแรง
ส่วนคนปกติทั่วไป จะเกิดผลต่างกันขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคลได้แก่ ความสามารถในการมองเห็นความสามารถในการทำงานลดลง ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง การเรียนรู้ลดลง หรืออาจไม่สามารถทำงานสลับซับซ้อนได้
ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulphide) ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า ละลายได้ในน้ำ แก๊สโซลีน แอลกอฮอล์ เกิดจากการทำปฏิกิริยาของซัลไฟด์ของเหล็กกับกรดซัลฟูริคหรือกรดไฮโดรคลอริค หรือเกิดจากการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์ที่มีซัลเฟอร์ เป็นองค์ประกอบผลผลิตจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ปิโตรเลียม ยางสังเคราะห์ โรงงานน้ำตาล เป็นต้น
เนื่องจากไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นแก๊สติดไฟได้ เมื่อติดไฟแล้วจะให้เปลวไฟสีน้ำเงินและเกิดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา การสัมผัสไฮโดรเจน-ซัลไฟด์เพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและปอด หากสูดดมเข้าไปมากๆ อาจจะมีผลทำให้เสียชีวิตได้
ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) เป็นแก๊สสีน้ำตาลอ่อน อาจเป็นส่วนประกอบสำคัญ อย่างหนึ่งของหมอกที่ปกคลุมอยู่ตามเมืองทั่วไป ไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ หากสูดดมเข้าไป จะทำให้ปอดระคายเคือง และภูมิต้านทานการติดเชื้อของระบบหายใจลดลงเช่น ไข้หวัดใหญ่ การสัมผัสสารในระยะสั้นๆ ยังปรากฏผลไม่แน่ชัด แต่หากสัมผัสบ่อยครั้งอาจจะเกิดผลเฉียบพลันได้
- ประสิทธิภาพของการมองเห็นลดลง เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอหรือฝุ่นละออง
- เสียงดัง (เสียงก้อง)
- อุณหภูมิสูง
- การออกจากพื้นที่เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินมีอุปสรรคและยากลำบาก
การตรวจวัดความปลอดภัยในพื้นที่อับอากาศ
ด้วยปัจจัยอันตรายจากการทำงานในพื้นที่อับอากาศส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับปริมาณอากาศหรือแก๊สในบริเวณนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน นอกเหนือจากการจัดการความปลอดภัยด้านอื่นๆ แล้ว การตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่อับอากาศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การตรวจวัดความปลอดภัยในที่นี้ จึงเน้นที่การตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่อับอากาศ
วิธีการตรวจวัดสภาพอากาศ มีดังนี้
- กำหนดตำแหน่งตรวจวัดให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงาน
- ใช้เครื่องมือตรวจสอบปริมาณแก๊สไปตรวจวัดตามจุดที่กำหนด
- บันทึกข้อมูลที่ตรวจวัดได้นำมาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน
ชนิดของแก๊สที่ตรวจวัด โดยทั่วไป ชนิดของแก๊สจะขึ้นอยู่กับพื้นที่อับอากาศที่ปฏิบัติงานนั้นๆ ซึ่งแต่ละแห่ง จะแตกต่างกันออกไป แต่แก๊สที่ตรวจสอบจะมีอย่างน้อย 4 ชนิด ดังนี้
- แก๊สออกซิเจน (O2) หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ปริมาตร/ปริมาตร
- แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) หน่วยเป็น ppm. (Part per million)
- แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) หน่วยเป็น ppm. (Part per million)
- แก๊สติดไฟได้ (Combustible gas) หน่วยเป็น % LEL
การปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศด้วยความปลอดภัย
ก่อนเข้าทำงานในสถานที่อับอากาศ
- ตรวจสอบปริมาณออกซิเจน สารเคมีและแก๊สอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีการขาดออกซิเจน การระเบิดหรือการเป็นพิษเกิดขึ้น
- จัดให้มีใบอนุญาตทำงานในพื้นที่อับอากาศ
- หากพบว่าสถานที่อับอากาศนั้น ไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย จะต้องทำการระบายอากาศ จนกว่าจะอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
- ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความคุ้นเคยกับพื้นที่ทำงานนั้นเป็นอย่างดี รู้วิธีการออกจากสถานที่นั้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
- การวางแผนการทำงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเข้าใจรวมทั้ง จัดอบรมด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ
ขณะทำงานในสถานที่อับอากาศ
- ตรวจสภาพอากาศเป็นระยะและอาจต้องมีการระบายอากาศตลอดเวลาถ้าจำเป็น
- ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้สภาพอากาศขณะทำงานตลอดเวลา
- จัดให้มีผู้ช่วยซึ่งผ่านการอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เฝ้าอยู่ปากทางเข้าออกตลอดเวลาทำงาน และสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานข้างในได้ตลอดเวลา
- ห้ามผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่อับอากาศ
- ห้ามสูบบุหรี่
- จะต้องติดป้ายแจ้งข้อความเตือน “บริเวณอันตรายห้ามเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” พร้อมจัดทำระบบ Lock Out/Tag Out ที่เครื่องจักรกล ระบบไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานเข้ามารบกวนหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายในพื้นที่อับอากาศ
- หากจำเป็นต้องพ่นสีหรือมีน้ำมันชนิดระเหย หรือต้องทำให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ ต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
- ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลตามสภาพของงาน และต้องมีเครื่องดับเพลิงประจำอยู่ในบริเวณที่มีการปฏิบัติงาน
- ปฏิบัติงานถูกต้องตามขั้นตอนการปฏิบัติ (ถ้ามี)
- ในกรณีฉุกเฉิน ถ้ามีผู้ปฏิบัติงานคนใดคนหนึ่งเกิดบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายในพื้นที่อับอากาศ ห้ามผู้ปฏิบัติงานคนอื่นเข้าไปช่วยเหลือหากไม่ได้รับการฝึกฝนมาหรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้
สรุป
การจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมที่อับอากาศเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจและมีความพร้อมในการทำงานในสภาพอันเปลี่ยนแปลงได้อย่างปลอดภัยและมีความเชื่อมั่นในการใช้งานอุปกรณ์ตอบโต้เหตุฉุกเฉินในงานอับอากาศ ดังนั้นเราสามารถดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อให้การฝึกอบรมเป็นประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพ